วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การเพราะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชคือ การนำเอาเนื้อเยื่อ หรือเซลล์ หรืออวัยวะที่ยังอ่อนของพืชมาเลี้ยงในสภาวะปลอดเชื้อ รวมถึงมีการให้อาหารสังเคราะห์ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต และมีการควบคุมสภาพแวดล้อม ได้แก่ แสง อุณหภูมิ ความชื้น ให้พอเหมาะ ห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ภายในห้องปฏิบัติการต้องมีการทำความสะอาดเป็นอย่างดีและสม่ำเสมอ ผู้ปฏิบัติงานต้องมีการรักษาความสะอาดของร่างกายและเสื้อผ้าเป็นอย่างดี วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ รวมถึงเนื้อเยื่อพืชควรผ่านการฆ่าเชื้อ เช่น เครื่องแก้วควรผ่านการอบที่อุณหภูมิ 180 องศาเซลเซียส นาน 3 ชั่วโมง อาหารสังเคราะห์ควรผ่านการนึ่งที่อุณหภูมิ 121 องศาเซลเซียส ความดัน 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เป็นเวลาอย่างน้อย 15 – 20 นาที เนื้อเยื่อควรกำจัดเอาสิ่งสกปรกออกก่อนแล้วจึงฆ่าเชื้อที่อยู่ตามผิวด้วยสารเคมี เช่น เช็ดด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ ปากคีบและใบมีดอาจฆ่าเชื้อโดย การจุ่มในเอทิลแอลกอฮอล์ 95% แล้วเผาไฟ นอกจากการทำความสะอาดเพื่อให้ภายในห้องปฏิบัติการปลอดเชื้อแล้ว ยังต้องมีการควบคุม สภาพแวดล้อมอื่นๆ ภายในห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออีกด้วย เช่น ความเข้มของแสงจะถูกควบคุมให้อยู่ที่ประมาณ 1000 – 2000 ลักซ์ อุณหภูมิจะถูกปรับให้อยู่ที่ประมาณ 25 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่พืชทั่วๆ ไปเจริญได้ดี ส่วนประกอบของอาหารสังเคราะห์โดยทั่วไปมีดังนี้ - แร่ธาตุ เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม - คาร์โบไฮเดรต ซูโครส (sucrose) นิยมใช้เป็นส่วนใหญ่ - วิตามิน เช่น ไทอามีน (thiamine) นิโคทินิกแอซิด (nicotinic acid) - กรดอะมิโน - กรดอินทรีย์ เช่น ซิเทรต (citrate) มาเลต (malate) - สารประกอบจากธรรมชาติ เช่น น้ำมะพร้าว - สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช ออกซิน (auxin) และไซโทไคนิน (cytokinin) นิยมนำมาใช้ - สารที่ช่วยให้อาหารแข็งตัวและวัสดุช่วยพยุงเนื้อเยื่อพืช วุ้น (agar) และเจลาตินโดยทั่วไปมักใช้ใส่ลงไป ในอาหารเพื่อทำให้อาหารแข็งตัว ส่วนกระดาษกรอง สำลี หรือใยสังเคราะห์เป็นวัสดุช่วยพยุงเนื้อเยื่อเมื่อเลี้ยงในอาหารเหลว แหล่งข้อมูล พัชรา ลิมปนะเวช. (2553). การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช. ในสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. (เล่มที่ 31, หน้า 128-159). กรุงเทพฯ : โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น